สามผ่านของการบริหารความเสี่ยง ทรงลักษณ์ จันทโชติ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
ปัจจุบันหลังจากผู้คนได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 มาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงเข้าใจและเข้าถึงหลักสัจธรรมกันมากขึ้น อย่างน้อยก็ได้เห็นว่าความไม่แน่นอนนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ เหตุการณ์ครั้งนี้ฉายภาพชัดถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การเจ็บป่วยจากโรค COVID-19 กับการขาดรายได้จากการทำงาน ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ ส่งผลกระทบต่อเงินออมของครอบครัว บางรายต้องจ่ายค่ารักษาเป็นหลักล้าน มีตัวอย่างมากมาย จนวันหนึ่งเมื่อคิดเรื่องวางแผนแทงหวย24การเงินคำถามที่มักเกิดขึ้น คือ ฉันควรบริหารความเสี่ยงเรื่องการประกันภัยหรือไม่ จะเก็บเงินเองเพื่อรองรับเหตุการณ์เจ็บป่วยกะทันหัน หรือทำประกันสุขภาพ ทำประกันชีวิต
ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของหัวข้อ สามผ่านของการบริหารความเสี่ยง เพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณา
กฎข้อที่ 1 ไม่ควรยอมรับความเสี่ยงโดยปราศจากมาตรการในการบริหารความเสี่ยงรองรับ เพราะผลกระทบต่อการยอมรับความเสี่ยง อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางการเงินที่สูงเกินกว่าจะจัดการได้ เช่น การเจ็บป่วยที่ต้องพักรักษาตัวนานๆ ทั้งจากโรคร้ายแรงหรืออุบัติเหตุ การเสียชีวิตที่ไม่เพียงแต่ทำให้รายได้หยุดชะงักทันที แต่อาจหมายถึง ความเป็นอยู่ของผู้ที่อยู่ในอุปการะ อาจได้รับผลกระทบ อนาคตการศึกษาของบุตรหลาน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการบริหารความเสี่ยงมารองรับ เช่น การทำประกันที่มีวงเงินมากพอที่จะทำให้ผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบ สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไป
กฎข้อที่ 2 คำนึงถึงโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง เนื่องจากโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงใดๆ จะมีผลกระทบต่อต้นทุนในการบริหารความเสี่ยง จึงต้องพิจารณาข้อนี้ เช่น เหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดสูง ต้นทุนบริหารความเสี่ยงก็จะสูงตาม คนที่มีโอกาสประสบอุบัติเหตุสูงกว่า เนื่องจากการประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เบี้ยประกันอุบัติเหตุก็จะสูงกว่าอาชีพที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่า
คนมีอายุมากเบี้ยประกันสุขภาพก็จะถูกปรับขึ้น เพราะโอกาสการเกิดโรคสูงกว่าตอนอายุน้อย หากพิจารณาดูแล้วไม่สามารถรับอัตราเบี้ยประกันที่สูงได้ จำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น การดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อยืดเวลาการเจ็บป่วย หรือการใช้สวัสดิการอื่นๆ ที่ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า โดยยอมรับความแตกต่างและผลการตัดสินใจ เนื่องจากไม่สามารถรับต้นทุนที่สูงได้ หรือต้องการประหยัด
กฎข้อที่ 3 คำนึงถึงต้นทุนโดยเปรียบเทียบกับมูลค่าความคุ้มครอง การบริหารความเสี่ยงควรคำนึงถึงต้นทุนที่จะใช้ในการบริหารความเสี่ยงสำหรับแต่ละทางเลือก โดยเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้ ในลักษณะการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost/Benefit Analysis) ซึ่งการให้ความสำคัญกับทางเลือกที่มีต้นทุนเหมาะสมกับความคุ้มครองความเสียหาย เช่น การทำประกันอัคคีภัยบ้านหรือร้านค้า เมื่อเปรียบเทียบเบี้ยประกันที่ค่อนข้างต่ำกับมูลค่าความคุ้มครองที่ค่อนข้างสูง หากเกิดเหตุขึ้น จะได้รับการชดเชย ก็ควรตัดสินใจทำประกันภัย การทำประกันบ้านก็เช่นกัน ดูอัตราเบี้ยต่อทุนประกันที่รับได้
การบริหารความเสี่ยงควรนำกฎทั้ง 3 ข้อมาพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ พิจารณาถึงผลดีผลเสียและผลกระทบที่ตามมา สำหรับแต่ละทางเลือก ทั้งนี้ปัจจัยร่วมสำคัญในการตัดสินใจ ยังมีเรื่องของความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน การให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ความเข้าใจในแต่ละเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น การประกันภัยเป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งในการบริหารความเสี่ยง แต่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกๆ เหตุการณ์
ตัวอย่างการพิจารณา คำถาม : ฉันเป็นผู้หญิง อายุ 35 ปีจำเป็นต้องทำประกันโรคร้ายแรงไหม
กฎข้อที่ 1: ไม่ควรยอมรับความเสี่ยงโดยปราศจากมาตรการในการบริหารความเสี่ยงรองรับ
ค่ารักษาโรคร้ายแรง มีตั้งแต่ประมาณ 200,000 บาท ถึงมากกว่า 10,000,000 บาท แล้วแต่ลักษณะโรค ความรุนแรงของอาการ สถานที่ วิธีการที่รักษาและสถานที่ที่ใช้ฟื้นฟูร่างกาย ผลจากการยอมรับความเสี่ยง หากต้องประสบโชคร้ายเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการงานอาชีพ รายได้ อีกทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ส่งผลให้ตนเองและครอบครัวเดือดร้อนทางการเงินได้ แม้จะมีเงินออมเผื่อเหตุการณ์นี้ไว้ ก็อาจไม่เพียงพอ ซ้ำร้ายบางกรณีอาจนำเงินเพื่อเป้าหมายอื่นมาใช้ เช่น ดึงเอาเงินออมเพื่อการศึกษาบุตรมาใช้เพื่อรักษาตัว เมื่อมีปัญหาการเงินย่อมส่งผลต่อจิตใจทำให้อ่อนแอและมีความเครียดเพิ่มขึ้น
กฎข้อที่ 2: คำนึงถึงโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง
แม้คนไทยในยุคปัจจุบันหันมาดูแลตัวเองกันมากขึ้นทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย แต่กลับพบว่ามีผู้ป่วยโรคร้ายแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน เนื่องจากมีสาเหตุอีกมากมายที่ทำให้คนป่วยได้ เช่น การใช้ยาผิดประเภท พันธุกรรม ความเครียด สารเคมี อากาศ เป็นต้น จะพบว่าบางสาเหตุ เราไม่สามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้เลย บางคนจึงดูแล้วเหมือนจะมีความเสี่ยงน้อย โอกาสเกิดโรคร้ายแรงน้อย แต่กลับเป็นโรคร้ายแรงตั้งแต่อายุยังน้อย แสดงว่าความเสี่ยงยังคงอยู่มีทุกคน แม้ถือว่าโอกาสเกิดน้อยแต่ผลกระทบมีมาก ปัจจุบันอัตราเบี้ยยังถือว่าค่อนข้างต่ำ อนาคตหากยังมีการเพิ่มปริมาณผู้ป่วยโรคร้ายแรง อาจมีการพิจารณาเพิ่มอัตราเบี้ยก็เป็นได้
กฎข้อที่ 3: คำนึงถึงต้นทุนโดยเปรียบเทียบกับความคุ้มครอง
ยกตัวอย่างแบบประกันโรคร้ายแรงสำเร็จรูป ซึ่งมีอัตราเบี้ยประกันคงที่ตลอดสัญญา
ชำระเบี้ยประกันภัย 20 ปี คุ้มครองชีวิตหรือโรคร้ายแรงทุนประกัน 1,000,000 บาท ตลอดชีพ ผู้หญิงอายุ 35 ปี เบี้ยประกัน 36,280 บาทต่อปี กรณีต้องการหยุดสัญญาหรือเวนคืนกรมธรรม์ ณ อายุ 70 ปี จะได้รับเงินสดคืน 751,000 บาท จะเห็นว่าใช้เงินค่าเบี้ยประกันจำนวนน้อย แต่ได้รับความคุ้มครองจำนวนมาก กรณีมีความจำเป็นต้องเวนคืนกรมธรรม์ ก็ยังได้รับเงินสดคืนเป็นสภาพคล่องได้ทันที เปิดโอกาสให้คนที่ต้องการบริหารเงิน นำเงินไปลงทุนต่อยอดความมั่งคั่ง เพราะไม่ต้องสำรองเงินสดก้อนใหญ่ไว้นั้นเอง
บทสรุปตัวอย่างการพิจารณาว่าจำเป็นต้องทำประกันโรคร้ายแรงหรือไม่ ผ่านกฎการบริหารความเสี่ยงทั้งสามข้อข้างต้น คือ ควรใช้การทำประกันเพื่อรองรับความเสี่ยง ไม่ควรยอมรับความเสี่ยงไว้เอง