เกษตรกรอ่วมเผชิญสารพัดปัญหา “ผลผลิตราคาตก-อหิวาต์หมู-เศรษฐกิจแย่-หนี้ครัวเรือนพุ่ง” ฉุดยอดปล่อยกู้ ธ.ก.ส.ฮวบ คาดปีบัญชี 64 ไม่ถึงเป้า 5 หมื่นล้านบาท พร้อมทบทวนเป้าหมายปีบัญชี 65 เดินหน้า “รัดเข็มขัด” แน่นขึ้น เน้นแก้หนี้-ปรับโครงสร้าง-คุมหนี้เสีย

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีบัญชี 2564 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2565 นี้ คาดว่าจะออกมาต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 5 หมื่นล้านบาทเล็กน้อย ทำให้ในปีบัญชี 2565 (เม.ย. 2565-มี.ค. 2566) ธ.ก.ส.จะต้องปรับเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานภาพจริงของลูกค้ามากยิ่งขึ้น

โดยจะพิจารณาว่าลูกค้ามีความจำเป็นในการประกอบอาชีพส่วนใด หรือมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งของเงินทุนมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อให้เกษตรกรนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ต่อไป

ทั้งนี้ ในปีบัญชี 2565 ที่กำลังจะเริ่ม ธ.ก.ส.จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขหนี้ครัวเรือนของเกษตรกร การเข้าไปดูแลลูกค้าและยกระดับศักยภาพของชุมชน ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในรายละเอียดของแผนงานได้เสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส.ไปแล้ว

“ธ.ก.ส.กำลังออกมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น ลดภาระดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระการชำระหนี้สินของเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดย ธ.ก.ส.จะเข้าไปเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน เนื่องจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินจะต้องเพิ่มในเรื่องของรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย นอกจากนี้ จะเน้นย้ำว่า ต้องเสริมศักยภาพอื่น ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”

ผลกระทบ ธกส.

แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.ก็ได้ปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีบัญชี 2564 มาแล้วรอบหนึ่ง จากแรกทีเดียวตั้งไว้ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเกษตรกรได้รับผลกระทบจากเรื่องการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) และราคาผลผลิต รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโดยรวมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

“ในปีบัญชี 2564 เมื่อเทียบกับปีบัญชีที่ผ่านมา ถือว่าเราทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายไปมาก จากที่ปีบัญชี 2563 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้เกือบ 1 แสนล้านบาท ดังนั้น กำไรสุทธิของ ธ.ก.ส.ในปีนี้ก็จะลดลง ส่วนในปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส.ก็จะปรับเป้าสินเชื่อลงมา การปล่อยสินเชื่อใหม่จะไม่ได้โตเหมือนกับที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ ในปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส.จะมีการปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น และไปหารายได้จากส่วนอื่นแทน เช่น การระดมทุนในตลาดเงิน รวมทั้งจะมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในองค์กรเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย

“เมื่อเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ธ.ก.ส.ก็จะได้รับผลกระทบทั้งในด้านของการกู้เงินและด้านเงินฝาก จึงจำเป็นที่จะต้องมาลดรายจ่ายต่าง ๆ เรียกได้ว่าในปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส.จะมีการรัดเข็มขัดแน่นขึ้น”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในส่วนสถานการณ์ลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.นั้น ขณะนี้ยังขยายระยะเวลาในการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าอยู่ตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน โดยจะมีการจัดกลุ่มลูกค้าว่าส่วนใดบ้างที่จำเป็นต้องเข้ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และส่วนใดบ้างจำเป็นที่จะเข้ามาตรการรวมหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้ ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลของกลุ่มลูกค้า โดยลูกค้าจะได้รับการดูแลคาบเกี่ยวไปถึงสิ้นปีบัญชี 2566 จึงทำให้สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ได้สูงมาก แต่ก็สูงกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่า NPL สิ้นปีบัญชี 2564 จะอยู่ที่ระดับ 4%

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการช่วยเหลือเกษตรกรจากโครงการรัฐในการประกันรายได้ข้าว และการชะลอเก็บเกี่ยวข้าว และโครงการอื่น ๆ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก ซึ่งมีเม็ดเงินลงไปถึงมือเกษตรกรกว่า 1.3 แสนล้านบาท ไม่เช่นนั้นแนวโน้มการเป็นหนี้เสียของลูกค้า ธ.ก.ส.จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

“เดิมเราคาดว่าสิ้นปีบัญชี 2564 NPL จะอยู่ที่ระดับ 4% แต่ก็คาดว่าจะเพิ่มจาก 4% ขึ้นมาเล็กน้อย เพราะราคาผลผลิตที่เข้ามากระทบ ทำให้เกษตรกรขาดรายได้ และเดิมลูกหลานของเกษตรกรจะมีรายได้นอกภาคการเกษตรจากคนในครัวเรือน แต่เมื่อถูกตัดไปด้วยสภาวะเศรษฐกิจโควิด รวมทั้งสถานประกอบการปิด ศักยภาพที่เคยมีการชำระหนี้ก็ลดลง อย่างไรก็ดี มาตรการที่ ธปท.ออกมาเราก็จะเร่งที่จะเจอกับลูกค้าเพื่อหารือทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกัน”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance